วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

รัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ในสภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความผันผวนของการเมือง เศรษฐกิจ และพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ต่างอะไรกับการโต้คลื่นแห่งโลกาภิวัฒน์ที่โถมเข้าใส่และบริโภคทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาโดยขาดการกลั่นกรองถึงประโยชน์ที่แท้จริงจากความเจริญเหล่านั้น
เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่มีลักษณะของการอาศัยพึ่งพาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมขนาดเล็กๆ ที่ใช้ส่วนบุคคลไปจนถึงซอฟต์แวร์ระดับสูงในองค์กรต่างๆ ประกอบกับพฤติกรรมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย ทำให้เกิดเป็นข้อเสียเปรียบในเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศและมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในระยะยาว
แนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์เสรี (Free Software) และซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส (Open Source Software) หรือเรียกรวมกันว่า F/OSS เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ดังจะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและดำเนินนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จาก F/OSS กันอย่างจริงจัง หากพิจารณาการดำเนินงานของแนวคิดนี้จะเห็นว่ามีความสอดคล้องแกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลายด้าน
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในการดำเนินชีวิตของพสกนิกรชาวไทย ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนเพื่อให้สามารถแก้ไขภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
p69322531043
หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้
กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจาก วิถีชีวิตดั่งเดิมของสังคมไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองโลกในเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลามุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนา
คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติตนบนทางสายกลางและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อมๆ กัน ดังนี้
ความพอประมาณ
หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล
หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
เงื่อนไข
การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
              เงื่อนไขความรู้   ประกอบด้วย “ความรอบรู้” เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน “ความรอบคอบ” ที่จะนำความรู้เหล่านี้มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผนและ”ความระมัดระวัง” ในขั้นปฏิบัติ
              เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้คือการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี
1

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสังคมโอเพ่นซอร์ส

สาระสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงประกอบด้วย เป้าหมายของการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว โดยดำเนินการภายใต้เงื่อนไขด้านความรู้ปละเงื่อนไขในด้านคุณธรรม หากนำกรอบแนวพระราชดำรินี้มาประยุกต์เพื่อดำเนินการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ โดยอาศัยตัวแบบการพัฒนาของ F/OSS มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ดังนี้
สภาพปัจจุบันและปัญหาด้านซอฟต์แวร์
จากสภาพปัจจุบันของการใช้งานซอฟต์แวร์ในประเทศไทย มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เกิดเป็นเงื่อนไขในการตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาการใช้งบประมาณจำนวนมากในการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ ไม่มีความสามารถในการผลิตและบริการซอฟต์แวร์ภายในประเทศได้ด้วยตนเองเป็นแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นภาพการไร้ความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี และปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบที่เด่นชัดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สรุปสภาพความสัมพันธ์ของปัญหากับแนวทางของ F/OSS ดังนี้
ซอฟต์แวร์และโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้งานในปัจจุบันสามารถหามาใช้ได้ง่าย จากการสำเนา ปลดล๊อคโปรแกรมและจำหน่ายในราคาถูกมาก
ไม่มีกฏหมายคุ้มครอง หรือบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยขาดแรงจูงใจในการผลิตคิดค้นโปรแกรมขึ้นใช้ในประเทศ และทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเข้ามาศึกษาด้านซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง
สภาพความพร้อมด้านเศรษฐกิจทุกระดับในประเทศเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านซอฟต์แวร์แล้วถือว่าโปรแกรมต่างๆ มีราคาแพง จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
แนวคิดการพัฒนาของ F/OSS เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถศึกษา ปรับปรุง ใช้งานโปรแกรมต่างๆ ที่พัฒนาภายใต้ข้อตกลงได้อย่างเสรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบต่อยอด และร่วมกันพัฒนาไปพร้อมกันทั้งตัวบุคคล ซอฟต์แวร์ และชุมชน
ปัจจุบันการใช้และการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายนัก ประมาณร้อยละ 1 ของการใช้งานทั้งหมด
หากมีการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้งานเพิ่มขึ้นในประเทศไทย จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เชิงเทคนิค รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตซอฟต์แวร์จากชุมชนโอเพ่นซอร์ส ( community ) เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยได้ทางหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการที่รวดเร็วเช่นนี้ นอกจากนี้ตัวแบบการสร้างธุรกิจโอเพ่นซอร์สยังมีส่วนช่วยเกิดการจ้างงาน การแข่งขันในเชิงธุรกิจ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นและมีกลไกในการดำรงรักษาสภาพในตัวซอฟต์แวร์เองให้คงอยู่กับชุมชนตลอดไปอีกด้วย
ความพอประมาณ
การพัฒนาซอฟต์แวร์ตามหลักความพอประมาณ คือ ใช้ทางสายกลาง ไม่มากหรือน้อยเกินไป มีแนวทางดังนี้             – เลือกใช้ซอฟต์แวร์เชิงพานิชย์กับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแบบผสมผสานไม่ใช้แบบหักดิบ เช่น ยกเลิกโปรแกรมวินโดวส์ออกแล้วใช้งานแต่โปรแกรมลินุกซ์แทนทั้งหมด
– นำโปรแกรมโอเพ่นซอร์สเข้าไปทดลองใช้งานโดยเริ่มจากงานเล็กๆ มีความสำคัญไม่มากนักแล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณการใช้ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
– สนับสนุนให้เริ่มสร้างความชำนาญให้กับนักพัฒนาโปรแกรมจากขั้นพื้นฐาน หรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์จากส่วนน้อยเช่น การแปลเอกสาร การแก้ไขบั๊ก ก่อนที่จะสร้างโครงการของตนเอง
– วางแผนการใช้ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมต่างๆ เท่าที่มีความจำเป็น เช่น แทนที่จะใช้ซอฟต์แวร์ชุด ( Software Suit ) ที่ประกอบด้วยโปรแกรมหลายตัวก็อาจจะใช้เพียงโปรแกรมขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เฉพาะเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ความมีเหตุมีผล
– พิจารณาอย่างรอบคอบทั้งในด้านความประหยัด คุณภาพ ผลประโยชน์ ข้อดี ข้อเสียในการใช้ซอฟต์แวร์แต่ละประเภท เช่น โปรแกรมกลุ่มโอเพ่นซอร์สบางโปรแกรมอาจจะเพิ่งเริ่มต้นโครงการยังมีคุณภาพไม่น่าเชื่อถือจึงควรเลือกใช้ซอฟต์แวร์เชิงพานิชย์มาใช้งานจะปลอดภัยกว่า เป็นต้น
– การพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นเองอาจพบอุปสรรคและยากที่จะเริ่มต้นได้ การเข้าร่วมกับชุมชนโอเพ่นซอร์สจะช่วยให้ไม่ต้องเริ่มต้นเองจากศูนย์แต่เป็นการเรียนรู้จากงานที่มีผู้อื่นริเริ่มไว้แล้วและนำมาต่อยอดให้มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของเรา
– การพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ให้ทันต่อความต้องการใช้งานควรนำแรงงานปัจจุบันคือ ผู้ที่กำลังอยู่ในวัยทำงานมาพัฒนาความรู้ความสามารถแทนที่จะพัฒนาเฉพาะนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเนื่องจากเป็นวิทยากรที่พัฒนารวดเร็วมาก
มีภูมิคุ้มกันที่ดี
การพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะส่งเสริมหลักการข้อนี้อย่างชัดเจน ดังนี้
– การเพิ่มปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากข้อบังคับจากต่างชาติในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
– ช่วยป้องกันและลดการผูกขาดสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ จากบริษัทต่างชาติ
– เมื่อคนไทยเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์จากชุมชนโอเพ่นซอร์สจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมของตนเอง มีผลงานซอฟต์แวร์เกิดขึ้นและใช้งานกันภายในประเทศ
– ทำให้ลดการพึ่งพาซอฟต์แวร์จากต่างชาติและเกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น ในทางกลับกันก็คือ สามารถในการพึ่งพาตนเองได้นั่นเอง
เงื่อนไขด้านความรู้
การดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องอาศัยเงื่อนไขด้านความรู้ไม่ใช่เฉพาะด้านเทคนิคเท่านั้นแต่จะต้องใช้ความรู้เชิงสังคมด้วย
– ควรมีการสนับสนุนการสร้างสื่อ แหล่งเรียนรู้ เครือข่ายหรือชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจ
– ประยุกต์ความสามารถด้านซอฟต์แวร์เข้ากับภูมิปัญญาไทยหรือจุดแข็งของประเทศไทยในแบบบูรณาการ เช่น การผลิตซอฟต์แวร์สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การรวมเอาเอกลักษณ์ของไทยไว้ในซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้น เป็นต้น หรือผลิตซอฟต์แวร์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในชนบท
– ศึกษาวิจัยลักษณะนิสัยที่เป็นธรรมชาติของคนไทย เพื่อการผลิตซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับคนไทย
– กำหนดยุทธศาสตร์การรณรงค์ด้านซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้เหมาะสมกับสังคมไทยซึ่งมีวัฒนธรรมและค่านิยมแตกต่างจากชนชาติอื่นๆ
เงื่อนไขด้านคุณธรรม
พยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ซอฟต์แวร์ในลักษณะที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถึงแม้จะยังไม่มีกฏหมายที่เอาผิดเราได้ก็ตาม หากมีโปรแกรมใดที่เป็นฟรีแวร์ แชร์แวร์ OEM version (ให้มาพร้อมกับสินค้าที่ซื้ออย่างถูกต้อง) หรือโปรแกรมที่เป็นโอเพ่นซอร์สที่สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการก็ควรนำมาใช้งานแทน
– การใช้งานโปรแกรมต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้ฝึกฝน การเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมใหม่ที่ช่วยให้องค์กรประหยัดได้ อาจจะต้อง “เสียสละ” ความสะดวกสบายของตนเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในระยะยาว
– มีความเอื้อเฟื้อ แบ่งปันความรู้ ให้ความช่วยเหลือในด้านการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เพื่อการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งระดับบุคคล องค์กร และประเทศโดยยึดความรักสามัคคีเป็นสำคัญ
– ซื่อสัตย์ต่อตนเอง วิชาชีพ และรับผิดชอบต่อสังคม(โอเพ่นซอร์ส) โดยไม่ขโมยผลงานของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นของคนไทยหรือชาวต่างชาติ
ความสมดุลและยั่งยืน
ถึงแม้ว่าแนวทางการพัฒนาโอเพ่นซอร์สที่ได้กล่าวมานี้ ยังไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังก็ตาม แต่หากมีการนำมาปฏิบัติแล้วจะเกิดภาพอนาคตที่คาดหวังไว้ ดังนี้
– ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่ร่วมกันพัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดของ F/OSS และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ได้ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้เหมาะสมกับคนไทย และมีอายุของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้ยาวนานกว่าการบริโภคซอฟต์แวร์เชิงพานิชย์
– ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ ขึ้น เกิดต้นทุนทางปัญญาที่มีการต่อยอด และการถ่ายทอดภูมิปัญญาภายใต้ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
– มีภูมิต้านทานต่อเทคโนโลยีจากต่างชาติที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น มีความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของตนเอง
– เกิดเครือข่ายความรู้ เครือข่ายความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และกระตุ้นการสร้างสรรค์ตลอดไป
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นอยู่แบบไทย คือ อยู่อย่างพอมีพอกิน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดำเนินชีวิตบนทางสายกลางและยึดมั่นในคุณธรรม แต่มิใช่ว่าจะเป็นแนวทางเฉพาะในระดับบุคคลหรือภาคการเกษตรเท่านั้น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาประยุกต์กับการพัฒนาโอเพ่นซอร์สนี้ถือว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือ นอกจากจะพอเพียงในระดับบุคคลแล้วยังขยายผลไปสู่สังคมและประเทศชาติโดยรวมอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อความสามารถในการพัฒนาอย่างมั่นคงยั่งยืน พึ่งตนเองได้ และสามารถปรับตัวได้ตามเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


maxresdefault

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น