วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

องค์ความรู้เรื่องดิน..ศาสตร์พระราชา..ปราชญ์แห่งแผ่นดิน

องค์ความรู้เรื่องดิน..ศาสตร์พระราชา..ปราชญ์แห่งแผ่นดิน


สำหรับเกษตรกรแล้วทุกอย่างล้วนเริ่มจาก “ดิน” ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อความคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด หากดินไม่ดีก็ไปต่อไม่ได้ และยังเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญเคียงคู่กับ “น้ำ” ในการทำเกษตรกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับดินเช่นเดียวกับเรื่องน้ำ ด้วยทรงเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับสภาพแวดล้อม พระองค์ท่านทรงริเริ่มโครงการพลิกฟื้นผืนดินที่เสื่อมโทรม เพื่อให้ผืนดินกลับมามีสภาพที่ดีและสามารถใช้เพาะปลูกทำการเกษตรได้อย่างมีคุณภาพซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ

พระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนา ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินที่เฉพาะเจาะจงตามสภาพปัญหาของพื้นที่นั้นๆเช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเสื่อมโทรม เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกครั้ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตรกรรมไว้หลายประการ อาจยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังต่อไปนี้

การสร้างแบบจำลองการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพขาดความสมบูรณ์ ดินปนทราย และปัญหาการชะล้างพังทลาย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาต่างกันตามภูมิสังคม ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาดูงานและนำความรู้ไปปรับใช้ตามสภาพปัญหาของพื้นที่



การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวโดย“ทฤษฎีแกล้งดิน” เริ่มจากวิธีการแกล้งดินให้เปรี้ยว ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรต์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น “แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด” จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้



การอนุรักษ์ดินโดย “หญ้าแฝก” เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พระองค์ทรงคิดค้นวิธีการใช้และดัดแปลงจากวิธีการสมัยเก่าที่ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ ซึ่งหญ้าแฝกเป็นวัชพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษคือช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน กักเก็บความชุ่มชื้นใต้ดิน นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยกรองน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำใส และยังใช้เป็นกำแพงสีเขียวกันไฟป่าลุกลามเพราะแม้ในฤดูแล้งหญ้าแฝกก็ยังคงเขียวชอุ่มไว้ได้ ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการใช้เทคนิคและวิชาการหญ้าแฝกที่ประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลกปัจจุบันนี้ด้วย

 “การห่มดิน” เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น จุลินทรีย์ทำงานได้ดี อันจะส่งผลให้ดินบริเวณนั้นทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดแร่ธาตุ ทั้งนี้การห่มดินมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีการ เช่น ใช้ฟางและเศษใบไม้มาห่มดินหรือวัสดุอื่นตามที่หาได้ตามสภาพทั่วไปของพื้นที่ การใช้พรมใยปาล์มเป็นผ้าห่มดิน นอกจากนั้น การห่มดินยังจะช่วยคลุมหน้าดินป้องกันวัชพืชได้อีกด้วย



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานสร้างคุณูปการหลายหลากจนเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางภายในประเทศและยังได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ 

โดยทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เทิดพระเกียรติพระองค์ท่านโดยกำหนดให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) 

นอกจากนี้ยังประกาศให้ ปี ๒๕๕๘ เป็น “ปีดินสากล” หรือ International Year of Soils นับได้ว่าพระเกียรติยศที่นานาชาติให้การยกย่องสรรเสริญนี้ล้วนแต่มาจากพระราชจริยวัตรด้านการพัฒนา 

ดังความหมายของพระนาม “ภูมิพลอดุลยเดช” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า “อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน” โดยแท้จริง

***ขอบคุณข้อมูลจาก ห้องสมุดมั่นพัฒนา
.....................................

ที่มา : สำนักข่าวเจ้าพระยา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น