วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี

“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
ในหลวง ร. 9 ทรงปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องดิน
        “...ดินแข็งอย่างนี้ใช้การไม่ได้ แต่ถ้าเราทำแนวหญ้าแฝกที่เหมาะสม มีฝนลงมา ความชื้นก็จะอยู่ในดิน รากแฝกมันลึกมาก ถึงให้เป็นเขื่อนกั้นแทนที่จะขุด พืชจะเป็นเขื่อนมีชีวิต แล้วในที่สุด เนื้อที่ตรงนั้นก็จะเกิดเป็นดินผิว เราจะปลูกอะไรก็ได้ ปลูกต้นไม้ก็ได้ ปลูกผักปลูกหญ้าอะไรก็ได้ทั้งนั้น...”
      
       พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2535
      
       วันดินโลก 
      
       คนไทยภาคภูมิใจที่สุดอย่างหามิได้ที่ได้เกิดในผืนแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก
      
       นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และยังทรงเป็นจอมปราชญ์ในหลากหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความเป็นปราชญ์ด้าน “ดิน” โดยพระราชกรณียกิจจำนวนมากของพระองค์ท่าน ต่างมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ยังผลให้การพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินเสื่อมโทรมและดินที่มีปัญหา ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เกษตรกรโดยทั่วหน้า 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
ในหลวง ร. 9 ทรงปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องดิน
        ด้วยพระปรีชาสามารถทรงเป็นจอมปราชญ์แห่งดิน สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (The International Union of Soil Science) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม (The humanitarian Soil Scientist) สดุดีพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และกำหนดวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) โดยมีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ร่วมสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
      
       สำหรับงานวันดินโลกปีนี้ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดจัดงานวันดินโลก ประจำปี 2559 (World Soil Day 2016)ขึ้น ในระหว่างวันที่ 3 - 5 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
      
       โดยงานวันดินโลกปีนี้กำหนดจัดขึ้นในหัวข้อ “Soils and Pulses, Symbiosis for Life : ดินและถั่ว...เกื้อกูลชีวิต” เพื่อให้สอดคล้องกับปีสากลแห่งถั่วเมล็ดแห้ง (International Year of Pulses) ที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้น 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
ข้อมูลเบื้องต้น งานวันดินโลก ปี 2559
        ภายในงานประกอบกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การจัดพิธีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และการแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การจัดนิทรรศการน้อมรำลึกถึงจอมปราชญ์แห่งการพัฒนาที่ดิน โดยแสดงพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริ เรื่องดิน การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับดินและการจัดการดินเพื่อการปลูกถั่ว การจัดแปลงสาธิตการปลูกถั่วและแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่ ซึ่งแสดงถึงการบริหารจัดการดิน น้ำ พืชอย่างยั่งยืน การบริการตรวจสอบดินและให้คำแนะนำการจัดการดิน การจัดตลาดนัดสินค้าเกษตร และสินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร การแข่งขันการทำอาหารจากถั่ว การจัดอบรมเกษตรกรเรื่องการปรับปรุงดินการปลูกถั่ว และการอบรมอาชีพเสริม เป็นต้น
      
       จอมปราชญ์แห่งดิน
      
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการสร้างสมดุลให้สภาพแวดล้อม จึงทรงให้ความสำคัญกับดินเช่นเดียวกับน้ำ พระองค์ท่านทรงริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เพื่อพลิกฟื้นผืนดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น สามารถใช้เพาะปลูกทำการเกษตรได้ โดยทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดิน เป็นกรณี ตามสภาพปัญหาของพื้นที่นั้นๆ
      
       สำหรับแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาเรื่องดินของในหลวง แบ่งเป็น 6 หมวดหลักๆ ได้แก่
      
       -ดินทราย : ต้องเพิ่มกันชนให้ดิน
      
       ดินทราย มีลักษณะโปร่งน้ำ รากพืชผ่านไปได้ง่าย ในฤดูแล้งน้ำในดินจะไม่เพียงพอ ทำให้พืชที่ปลูกใหม่มักจะตาย เพราะดินร้อนและแห้งจัด ต้องแก้ด้วยการเพิ่มความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุที่จะทำหน้าที่เสมือนกันชนให้แก่ดิน โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องดินทรายที่มีแร่ธาตุน้อย 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จัดเตรียมพื้นที่สำหรับงานวันดินโลกปีนี้(ภาพจากเพจ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
        พระองค์ท่านจึงได้ให้แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อนำน้ำไปใช้พัฒนาการเกษตร ชะลอการไหลของน้ำ เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดินและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินที่มีธาตุอาหารสะสมอยู่
      
       หลังจากดำเนินงานแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ฯเขาหินซ้อนฯ จากเดิมที่มีปัญหาเรื่องดิน(ทราย)เสื่อมโทรม ได้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียวสามารถปลูกพืชต่างๆได้เป็นอย่างดี
      
       -ดินเป็นหิน กรวด และแห้งแล้ง : ต้องยึดดินและช่วยให้ชื้น
      
       ดินเป็นหิน กรวด มีลักษณะเดียวกับดินทราย หน้าดินถูกชะล้างเหลือแต่ หิน กรวด พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้
      
       พื้นที่ที่เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการแก้ปัญหาด้วยฝายแม้วตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อกักเก็บน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดินผืนป่า มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดดิน ป้องกันการชะล้าง การพังทลายของหน้าดิน
      
       ผลจากการแก้ปัญหาพัฒนาดังกล่าว สามารถพลิกฟื้นให้ผืนป่าห้วยฮ่องไคร้ที่เคยเสื่อมโทรมกลับมาสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งต้นน้ำ ขณะที่ฝายแม้วในโครงการนี้ก็ได้กลายเป็นฝายต้นแบบให้กับหลายๆพื้นที่ 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
ฝายชะลอน้ำที่ห้วยฮ่องไคร้
        -ดินดาน ดินแข็ง และดินลูกรัง : ต้องสร้างของดีซ้อนบนของเลว
      
       ดินดาน ดินแข็ง ดินลูกรัง เป็นดินเนื้อละเอียด ฤดูแล้งจะแห้งแข็ง แตกระแหง น้ำและอากาศผ่านเข้าได้ยาก รากไม้ยากที่จะชอนไชลงไปในใต้ดิน
      
       โครงการต้นแบบการที่แก้ปัญหาในเรื่องนี้คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยแก้ปัญหาด้วย การสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก ปรับปรุงดินโดยให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ รวมถึงการปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดเท เพื่อป้องกันดินถูกชะล้าง พังทลาย
      
       หลังการแก้ปัญหา ปัจจุบันศูนย์ฯห้วยทรายฯ ที่เคยเป็นสภาพเสื่อมโทรมได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวที่สามารถทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
หญ้าแฝกช่วยยึดดิน แก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง
        -ดินถูกชะล้าง : ช่วยเหลือด้วยกำแพงที่มีชีวิต
      
       ดินถูกชะล้าง คือ ดินที่มีหน้าดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกกระแสน้ำและลม พัดพาเอาหน้าดินที่มีแร่ธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโตของพืชไป
      
       การแก้ปัญหาในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้กำแพงที่มีชีวิต นั่นก็คือหญ้าแฝก โดยโครงการพระราชดำริต่างๆจะมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดดินและแก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง
      
       สำหรับโครงการตัวอย่างในการพัฒนาหญ้าแฝก คือโครงการพัฒนาดอยตุง(พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ซึ่งใช้การปลูกหญ้าแฝกเป็นเขื่อนตามธรรมชาติ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ไม่ให้ดินเลื่อนไหล อีกทั้งยังช่วยกรองตะกอนดินที่น้ำพัดพามา นอกจากนี้ยังไม่ต้องสร้างแนวกำแพงโดยวิธีทางวิศวกรรม ช่วยให้หยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก และยังมีสภาพกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม
      
       ผลสำเร็จจากโครงการนี้ ทำให้สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
แกล้งดิน(ศูนย์ฯพิกุลทอง) อีกหนึ่งความสำเร็จจากพระอัจฉริยะภาพ
        -ดินพรุ หรือ ดินเปรี้ยว : ต้องทำให้กินโกรธ โดยแกล้งดิน
      
       ดินพรุ เป็นพื้นดินที่มีสภาพน้ำขัง มีสภาพความเป็นกรดอย่างรุนแรง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
      
       การแก้ปัญหาในสภาพดินพรุ ดินเปรี้ยว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระอัจฉริยะภาพ คิดค้นวิธีการที่เรียกว่า“แกล้งดิน” ขึ้น โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา กลายเป็นดินที่มีกรดจัด เปรี้ยวจัด จากนั้นจึงใช้น้ำชะล้างดินควบคู่ไปกับปูน ซึ่งทรงเรียกว่า “ระบบซักผ้า” เมื่อใช้น้ำจืด ชะล้างกรดในดินไปเรื่อยๆ ความเป็นกรดจะค่อยๆจางลง จนสามารถใช้เพาะปลูก ทำการเกษตรได้
      
       ความสำเร็จที่เด่นชัดในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินเป็นกรดจัด คือโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.นราธิวาส 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองฯ ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในโครงการแกล้งดิน
        -ดินเค็ม : ต้องล้างความเค็มออก
      
       ดินเค็ม คือดินที่มีเกลืออยู่ในดินเป็นจำนวนมาก
      
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้ระบบชลประทานในการล้างเกลือที่ผิวดิน ให้เกลือเจือจางจนสามารถใช้สอยได้
      
       โครงการที่เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร
      
       หญ้าแฝก
      
       “หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษา และทดลองปลูกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่อื่นๆที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยพิจารณาจากลักษณะของภูมิประเทศ คือ บนพื้นที่ภูเขา ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชันและในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นของดินไว้ด้วย บนพื้นที่ราบให้ปลูกหญ้าแฝกให้ปลูกหญ้าแฝกรอบแปลงพืชไร่ ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ เพื่อที่รากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน...”
      
       พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเมื่อวันที่ 14 ก.ค. พ.ศ. 2541 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
หญ้าแฝก กำแพงธรรมชาติมีชีวิต
        หนึ่งในพระปรีชาสามารถด้านการแก้ปัญหาเรื่องดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็คือการใช้หญ้าแฝกมาช่วยแก้ปัญหา ให้เป็นดัง “กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่ปรากฏในโครงการพระราชดำริจำนวนมาก ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องดินได้อย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรม ส่งผลให้หญ้าแฝกจากวัชพืชธรรมดาที่ถูกมองข้าม กลายเป็นสิ่งสำคัญที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ แก้ปัญหาเรื่องดินและน้ำ
      
       ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงพระราชทานพระราชดำริในการใช้หญ้าแฝกมาอนุรักษ์ดินและน้ำ ทางสมาคมอนุรักษ์ดินนานาชาติ (International Erosion Control Association : IECA) จึงทูลเกล้าฯถวายรางวัล Internation Merit Awards ในฐานะเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำดีเด่นของโลก
      
       และนี่ก็คือส่วนหนึ่งในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลทที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ซึ่งการทรงงานหนักของพระองค์ท่านนั้นก็เพื่อพสกนิกรชาวไทยทุกคน
      
       เป็นการทรงงานหนักเพื่อลูกๆทุกคนในประเทศนี้ 
      
       ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป 
“วันดินโลก” จากพระราชา จอมปราชญ์แห่งดิน/ปิ่น บุตรี
หลังการแกล้งดินที่ศูนย์ฯพิกุลทอง นาข้าวสามารถเติบโตงอกงามได้เป็นอย่างดี
        ******************************************
      
       หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจากหนังสือ “จอมปราชญ์แห่งดิน” โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น